2012 Views |
ไม่อยากโดนแฮ็กเฟซบุ๊กต้องอ่าน
ต้องยอมรับว่า "สื่อสังคมออนไลน์" ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการติดต่อสื่อสาร การค้าขาย รวมถึงการทำธุรกรรมออนไลน์
การใช้งานสื่อออนไลน์ อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายๆ ท่าน ซึ่งอาจทำให้มิจฉาชีพใช้โอกาสนี้ ทำการแฮ๊กเข้าระบบสื่อออนไลน์ของท่านมากระทำความผิด สร้างความเสียหายแก่ท่านได้
ตัวอย่างคดีที่ทางกองปราบปราบเคยได้ทำการสืบสวน ทราบว่า คนร้ายจะทำการค้นหาข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายจากสื่อออนไลน์ที่เคยโพสต์ไว้ แล้วทำการสุ่มรหัสผ่านจากข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหาย เช่น หมายเลขโทรศัพท์ วันเกิด หรือข้อมูลส่วนตัวที่จะมาสุ่มแปลงเป็นรหัสผ่านได้ เมื่อแฮ็กเข้าระบบของผู้เสียหายได้แล้ว ก็จะส่งข้อความทักแชทไปยังเพื่อนของผู้เสียหาย เพื่อขอยืมเงินโดยให้โอนผ่านบัญชีที่คนร้ายได้เตรียมไว้ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เสียหายถูกแฮ็กเฟซบุ๊กมากกว่าร้อยราย และทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาท
จากการสอบถามผู้เสียหายส่วนมาก มักจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวไว้บนสื่อออนไลน์ เช่น วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งที่อยู่ และใช้รหัสผ่านในการเข้าระบบที่สามารถคาดเดาได้ง่าย
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเบื้องต้น และลดช่องทางการก่ออาชญากรรมของเหล่ามิจฉาชีพ กองปราบปราม จึงขอแนะนำให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์ปฎิบัติตามนี้
(1) เปลี่ยนรหัสผ่าน ทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน และเป็นรหัสที่สามารถคาดเดาได้ยาก โดยไม่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว
(2) ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนสื่อออนไลน์
(3) การตั้งค่าเข้ารหัสความปลอดภัย 2 ชั้น ในกรณีที่แพลตฟอร์มนั้นๆมีให้บริการ
(4) และหากถูกคนรู้จักทักผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และถูกยืมเงิน ให้ตรวจสอบโดยการโทรศัพท์ไปตรวจสอบกับผู้ยืมโดยตรง
เพียงเท่านี้ท่านก็ลดความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อเหล่ามิจฉาชีพลงได้
สุดท้ายนี้ ลองสำรวจตัวท่านดูว่า ยังใช้รหัสผ่านที่สามารถคาดเดาได้ง่าย สำหรับการเข้าใช้งานสื่อออนไลน์อยู่หรือไม่ ถ้ายังใช้ให้เปลี่ยนรหัสผ่านในการใช้งานใหม่ และปฏิบัติตามคำแนะนำจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพนะคะ
#การตั้งรหัสผ่านให้ปลอดภัย #สื่อออนไลน์ #CSD