ครม.ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอีก 1 ปี

2705 Views  | 

ครม.ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอีก 1 ปี
.
คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามกระทรวงดิจิทัลฯ ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอีก 1 ปี หวังลดผลกระทบทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ ธุรกิจทุกขนาด และประชาชน ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
.
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (5 พ.ค.64) มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. 2563 ในส่วนที่กำหนดระยะเวลาใช้บังคับ ทำให้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มิถุนายน 2565
.
ทั้งนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายกลางที่กำหนด หลักเกณฑ์ กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีประสิทธิภาพ สร้างความเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีมาตรการเยียวยาเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจากการถูกละเมิดอย่างเหมาะสม แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก
.
ดังนั้น หากกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ จะทำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่-เล็ก รวมทั้งประชาชนทั่วไป ถ้ามีการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งมีรายละเอียดมากและซับซ้อน และต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการกำหนดโทษปรับทางปกครอง ความรับผิดทางแพ่งและทางอาญาด้วย โดยในสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นการเพิ่มภาระและความยากลำบากให้กับทุกกลุ่มที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายฉบับนี้
.
“ที่ผ่านมาภาคธุรกิจประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกลุ่มสมาคมด้านการท่องเที่ยว ได้ร่วมกันขอให้รัฐบาลบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความไม่พร้อมในการปฏิบัติตามรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ ดีอีเอส จึงได้นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และได้รับความเห็นชอบให้ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ไปอีก 1 ปี” นายชัยวุฒิกล่าว
.
โดย พ.ร.ฎ. กำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2563 ซึ่งมีผลให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายบางหมวดกับกิจการ 22 ประเภทไปจนถึง 31 พฤษภาคม 2564 จะขยายเวลาบังคับใช้ไปเป็นปี 2565
.
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่กระทรวงดิจิทัลฯ ประกาศกำหนด โดยต้องจัดให้มีมาตรการเรื่องการเข้าถึงและการควบคุมการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล (Access Control) และแจ้งมาตรการดังกล่าวพร้อมสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้แก่บุคลากรและผู้เกี่ยวข้องทราบเพื่อให้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
.
ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้จัดทำร่างกฎหมายลำดับรอง และร่างแผนแม่บทการส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นสาธารณะไว้แล้ว รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำแนวปฏิบัติในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านค้าปลีกและค้าออนไลน์ ด้านการคมนาคมและขนส่ง ด้านอสังหาริมทรัพย์ และด้านภารกิจของหน่วยงานรัฐ
.
นอกจากนี้ ยังมีแผนงานเตรียมความพร้อม และสร้างความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองบุคคล
ให้ผู้ประกอบการทุกประเภทกิจการ และทุกขนาด โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเก็บรวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเกิดความเชื่อมั่นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้พัฒนานวัตกรรมได้อย่างเหมาะสม

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy