2516 Views |
จอดรถขวางทางเข้า - ออกบ้านผู้อื่น ผิดกฎหมายนะ รู้ยัง ?
ปัญหาการจอดรถกีดขวาง หรือการจอดรถในที่ห้ามจอดเป็นถือเป็นปัญหาที่พบกันได้บ่อยครั้ง สำหรับบางท่านอาจเห็นว่าเป็นปัญหาเล็กน้อยที่สามารถเจรจาตกลงกันได้ แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวที่คู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้จนเกิดเป็นเหตุบานปลาย มีการทำลายทรัพย์สิน หรือถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันตามที่เป็นข่าวกันก็มีมาแล้ว
ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดมาจากปริมาณรถที่มากเกินไปบนท้องถนน ตามข้อมูลของกรมการขนส่ง วันที่ ๓๐ มิ.ย.๖๒ พบว่า มีการจดทะเบียนทั้งรถจักรยานยนต์ รวมถึงรถยนต์ มีจำนวนสะสมสูงถึง ๔๐ ล้านคันทั่วประเทศ โดยในพื้นที่ กทม. เอง มีปริมาณรถมากกว่า ๑๐ ล้านคันเลยทีเดียว
ซึ่งตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๕ ได้ระบุพื้นที่ห้ามจอดไว้ ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นได้คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวผู้ใช้รถเอง รวมถึงผู้อื่นที่ใช้ถนน หรือทางร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้หากผู้ใช้รถได้จอดรถขวางทางเข้า-ออกบ้านของผู้อื่น อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๗ ฐานก่อความเดือนร้อนรำคาญ ที่มีอัตราโทษ จำคุก ไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท และผู้เสียหายยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งได้อีกด้วย
ดังนั้น การจอดรถผู้ขับขี่ พึงทำตามข้อกำหนดที่กฎหมายได้วางไว้ เพื่อไม่ให้รบกวนสิทธิของผู้อื่น ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีทั้งในทางคดีอาญา และทางแพ่งอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง : กรมขนส่งทางบก
#จอดรถขวางทาง #ก่อความเดือดร้อน #จอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่น #กองปราบ #กองปราบปราม #CSD